อาณาบริเวณพื้นที่ลาดเทจากทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของแนวเทือกเขาภูพาน ไปสู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีลักษณะภูมิประเทศแบบพื้นที่ราบสลับพื้นที่ลอนลาด เมื่อครั้งอดีตยังคงความเป็นพื้นที่ป่าต่อเนื่องจากเทือกเขาภูพาน ประกอบด้วยลำน้ำสำคัญหลายสาย อาทิ ลำน้ำสงคราม ลำน้ำอูน ลำน้ำยาม และลำห้วยปลาหาง มีความดกอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติของพืชพรรณ และสิ่งมีชีวิตนานาชนิด โดยทรัพยากรทางธรรมชาติเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญเอื้อประโยชน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ วิถีชีวิต สังคมและวัฒนธรรม ของผู้คนที่อาศัยอยู่ในอาณาบริเวณแห่งนี้
.
ด้วยการที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ก็ไม่วายที่จะหนีไม่พ้นในเรื่องของความขัดแย้ง เมื่อมีการกำหนดแนวเขตแดนระหว่างบ้านเมือง โดยเฉพาะปัญหาเรื่องเขตแดนที่ส่งผลกระทบต่อการผูกอากร “สีผึ้ง” ระหว่างเมืองหนองหารกับเมืองสกลนคร “สีผึ้ง” หรือ “ขี้ผึ้ง” เป็นส่วนหนึ่งในรายการส่วยสำคัญที่รัฐบาลส่วนกลางเรียกเก็บจากแต่ละเมืองในภาคอีสาน
.
คำว่า “ผูกอากรสีผึ้ง” หมายถึง การขอสัมปทานพื้นที่ป่าผึ้ง เนื่องจากแต่เดิมนั้นรัฐบาลหวงห้ามป่าผึ้งเอาไว้ โดยผู้ขอ “ผูกอากร” หรือที่เรียกว่า “ผูกภาษี” ต้องจัดหาขี้ผึ้งก้อนให้กับรัฐบาล ตามที่รัฐบาลกำหนดให้ครบตามจำนวน บางทีเรียกว่า “ส่วยผึ้ง” โดยในส่วนนี้รัฐบาลกำหนดให้ “เลก” คือ ไพร่ชายที่มีความสูงตั้งแต่ ๑๒๕ เซนติเมตรขึ้นไป ต้องเสียส่วยสีผึ้ง จำนวน ๒.๔ กิโลกรัมต่อปี หรือหากไม่สามารถจัดหาขี้ผึ้งได้อาจเสียเป็นเงิน จำนวน ๔ บาทต่อปี
.
ตัดมาที่การผูกอากรสีผึ้งเมืองหนองหาร พบหลักฐานว่า เมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๙ พระพิทักษ์เขตขันธ์ เจ้าเมืองหนองหาร ได้ยื่นเรื่องต่อรัฐบาล ๒ เรื่องด้วยกัน ประกอบด้วย เรื่อง ปัญหาพื้นที่ขอผูกอากรสีผึ้งป่าดงในเขตแดนเมืองหนองหารและเขตแดนเมืองไชยบุรี ระหว่างหลวงสิทธิ กับพระพิทักษ์เขตขันธ์ ซึ่งเมืองหนองหารเองขอผูกอากรมาแต่เดิมแต่จำนวนอากรสีผึ้งไม่ชัดเจน กับเรื่อง ปัญหาเขตแดนเมืองสกลนครกับเมืองหนองหารซึ่งเป็นความวิวาทกัน ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๒๑ รัฐบาลมอบหมายให้หลวงอนุชิตพิทักษ์ (สุด) หลวงภักดีณรงค์ (ทัด) เชิญท้องตราพระราชสีห์ขึ้นมายังเมืองหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ เพื่อจัดการกับปัญหานี้ ประการแรกเรื่องการผูกอากรสีผึ้งเมืองหนองหาร ตัดสินให้หลวงสิทธิ กับพระพิทักษ์เขตขันธ์ ให้ผูกอากรสีผึ้งรายละ ๖๐ ชั่งต่อต่อปี หรือประมาณ ๗๒ กิโลกรัม ซึ่งก็เป็นยอมความกันไป
“…โปรดเกล้าโปรดคม่อมให้หลวงอะนุชิตพิทัก หลวงภักดีณรงเปนข้าหลวงเชิญท้องตราพระราชสีหขึ้นมาสองฉบับ หนึ่งว่า หลวงสิททิรับอากรสีผึ้งป่าดง ในเขตเมืองหนองหาร เมืองไชยบุรีติดต่อกัน หลวงอนุชิตพิทัก หลวงภักดีณรง เปนตลาการตัดสินให้ข้าพระพุทธิเจ้า รับเอาอากรสีผึ้งในเขตแขวงเมืองข้าพระพุทธเจ้า ๖๐ ชั่ง แดนหลวงสิททิ ข้าพระพุทธิเจ้ายอมรับเอาตามคำตัดสิน…”
(ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร. ใบบอกเมืองหนองหาน จ.ศ.๑๒๕๐ เลขที่ ม๒.๑๒ก/๗๖ )
.
พอจบประเด็นปัญหาเรื่องการผูกอากรสีผึ้งเมืองหนองหาร ยังมีประเด็นปัญหาอีกเรื่อง คือ เรื่องเขตแดนที่เป็นความวิวาทกันมาระหว่างเมืองหนองหารกับเมืองสกลนคร เท้าความกลับไปเมื่อพุทธศักราช ๒๓๗๘ – ๒๓๘๑ ครั้งครัวเมืองมหาไชยกองแก้วมาตั้งที่บ้านหนองหารเชียงชุม ได้รับการยกขึ้นเป็นเมืองสกลนคร เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์) กับพระยานครราชสีมา ได้แบ่งปันเขตแดนระหว่างเมืองหนองหารกับเมืองสกลนคร โดยกำหนดตั้งแต่ปากแม่น้ำอูนตกลำน้ำสงคราม ตามลำน้ำอูนขึ้นไปถึงเขาภูพาน ทิศตะวันออกเป็นเขตแดนเมืองสกลนคร ข้างทิศตะวันตกเป็นเขตแดนเมืองหนองหาร โดยปักหลักที่ปากน้ำอูนไหลตกลำน้ำสงครามหลักหนึ่ง ปักบ้านนาหว้าหลักหนึ่ง ปักผ้าขาวหลักหนึ่ง
“…แล้วเจ้าพระยาบดินเดชา พระยานครราชเสมา จึ่งแบ่งปันเขตแดนให้พระยาประเทศธานี ตั้งแต่ปากแม่น้ำอูนตกสงคราม ตามลำน้ำอูนขึ้นไปถึงเขาภูพาน ข้างตระวันออกเป้นเขตแดนเมืองสกลนคร ข้างตระวันออกเปนเขตแดนเมืองหนองหาร จึงได้พร้อมกันปักหลักที่ปากน้ำอูนไหลตกน้ำสงครามหลักหนึ่ง ปักบ้านนาหว้าอีกหลักหนึ่ง ปักผ้าขาวอีกหลักหนึ่ง…”
(ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร. ใบบอกเมืองหนองหาน จ.ศ.๑๒๕๐ เลขที่ ม๒.๑๒ก/๗๖ )
.
ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๑๘ ราชวงษ์ (ปิด) อุปฮาด (โง่นคำ) เมืองสกลนคร ร้องต่อพระยามหาอำมาตย์ (ชื่น) ที่มาปราบฮ่อ ให้ช่วยสะสางเขตแดนระหว่างเมืองหนองหารกับเมืองสกลนครให้ใหม่ โดยพระยามหาอำมาตย์มอบหมายให้พระบำรุงสุนทร มากำหนดหลักเขตแดน ฝ่ายพระบำรุงสุนทรก็ไม่ได้ยึดตามหลักเดิมของเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์) กับพระยานครราชสีมากำหนด แต่ปักใหม่ล้ำเขตเดิมเข้าไป ๑๒๗ เส้น หรือประมาณ ๕ กิโลเมตร
“…แล้ว ราชวงษ์ที่เปนพระยาประเทศธานี ผู้ช่วยเปนที่อุปฮาดเมืองษากนะคร มาร้องต่อพระยามหาอำมาต ๆ ให้พระบำรุงสุนทร เปนข้าหลวงไปปักหลักเขตแดน พระบำรุงสุนทร หาปักตามหลักเดิมซื่งเจ้าพระยาบดินเดชา พระยานครราชสีมาแม่ทัพได้แบ่งปันไว้แต่เดิมได้ พระบำรุงสุนทรไปปักหลักที่บ้านท่าสวงหลักหนึ่ง บ้านบงหลักหนึ่ง ปากยามไหลตกลำน้ำสงครามหลักหนึ่ง ปุกรุกเขตแดนเมืองข้าพระพุทธิเจ้า เข้ามาในหลักเดิมมาถึงบ้านบง ได้ ๑๒๗ เส้น…”
(ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร. ใบบอกเมืองหนองหาน จ.ศ.๑๒๕๐ เลขที่ ม๒.๑๒ก/๗๖ )
.
ฝ่ายพระพิทักษ์เขตขันธ์ เจ้าเมืองหนองหารไม่พอใจในผลการตัดสิน จึงลงไปร้องเรียนต่อที่กรุงเทพฯ รัฐบาลก็นัดมาเคลียปัญหา แต่ฝ่ายเมืองสกลนครก็เดินทางกลับขึ้นมาก่อน เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช) ผู้เป็นที่สมุหนายก จึงสั่งการขึ้นมาว่า ให้ฝั่งเมืองสกลนครถอนหลักที่ปักกินเข้าไปในเขตเมืองหนองหารออกไปไว้ในตำแหน่งเดิม แต่เมืองสกลนครยังไม่มาถอนหลัก ฝ่ายเมืองหนองหาร ก็ดำเนินการโดยเชิญท้าวเพี้ยกรมการเมืองมหาสารคาม เมืองชลบท เมืองไชยบุรีมาเป็นพยานแล้วทำการถอนหลักเขตที่พระบำรุงสุนทรกำหนด
“…ข้าพระพุทธิเจ้าจึงได้พาท้าวเพี้ยกรมการเมืองมหาษาระคาม เมืองชลบท เมืองไชยบุรี มาเปนพยาน แล้วข้าพระพุทธิเจ้าก็ถอนออก ข้าพระพุทธิเจ้าได้ส้อมแซมหลักเดิมไว้ตามตราซึ่งโปรดขึ้นมา…”
.
ตัดมาที่เมืองสกลนครทราบความว่ามีการย้ายหลัก ก็ไม่ยอมร้องลงไปหารัฐบาล จึงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลส่งหลวงอนุชิตพิทักษ์ (สุด) กับหลวงภักดีณรงค์ (ทัด) ขึ้นมาตัดสินปัญหาการวิวาทแย่งชิงเขตแดน โดยผู้แทนทั้งสองท่านก็ได้ตัดสินกำหนดเอาตามหลักเขตที่พระบำรุงสุนทรปักไว้ที่พระพิทักษ์เขตขันธ์ เจ้าเมืองหนองหารพึ่งถอนไป ไม่เอาตามที่เจ้าพระยาบดินเดชานุชิต (สิงห์) กับพระยานครราชสีมาปักไว้ ฝ่ายท้าวเพี้ยกรมการเมืองหนองหารที่ฟังคำตัดสินเกิดความไม่พอใจได้โต้แย้ง ถูกหลวงอนุชิตพิทักษ์ (สุด) กับหลวงภักดีณรงค์ (ทัด) ลงโทษด้วยการเฆี่ยนคนละ ๕ – ๑๐ ที
.
เมืองสกลนครเองก็เข้าทำการย้ายหลักกลับตำแหน่งเดิม พร้อมกับส่งหนังสือหาเมืองขึ้น กองขึ้น สังกัดเมืองหนองหาร ให้อพยพคนออกให้พ้นหลักเขตเมืองสกลนคร ทำให้ราษฎรเมืองหนองหารต้องเสียที่ทำกินไปหลายครอบครัว
.
ทีนี้ดูผลการตัดสินเหมือนจะเป็นอันยุติ แต่ก็ไม่ยุติ ครั้นในปีพุทธศักราช ๒๔๓๑ พอถึงฤดูแม่ผึ้งมาแฝงรวงรังในป่าผึ้ง ไพร่เมืองหนองหาร นำโดยท้าวฝ่ายกำนันได้ตั้งกองตีผึ้งไปเฝ้าบริเวณต้นไม้ที่ผึ้งทำรังในเขตคาบเกี่ยวที่พิพาทกันอยู่ ฝ่ายพระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ) เจ้าเมืองสกลนคร เมื่อทราบเช่นนั้นก็ได้จัดท้าวเพี้ยกรมการถืออาวุธครบมือไปรื้อทำลายกองของท้าวฝ้ายกำนัน จับเอาท้าวฝ้ายกำนันและพรรคพวกไปขังไว้ในตารางเมืองสกลนคร พร้อมกับริบเอาทรัพย์สินไปทั้งหมด
.
เป็นอันว่า ในปีนั้นเมืองหนองหาร ได้สีผึ้งส่งลงไปให้กับรัฐบาลไม่ครบจำนวนต้องทดแทนเป็นเงิน ๑๕ บาท กับอีก ๒ ชั่ง ดูเหมือนพระพิทักษ์เขตขันธ์ เจ้าเมืองหนองหาร คงจะอึดอัดใจไม่น้อยเรื่องยังไม่จบ ร้องเรียนไปยังพระยาสุริยเดชวิเศษทศทิศวิไชย ปลัดบริเวณประจำเมืองหนองคาย ซึ่งมีการนัดหมายให้พระพิทักษ์เขตขันธ์ กับพระยาประจันตประเทศธานี เดินทางไปชี้แจงไกล่เกลี่ยเรื่องเขตแดนเมือง ณ เมืองหนองคาย ร้องเรียนอยู่ ๒ ครั้ง จนในปีพุทธศักราช ๒๔๓๓ เรื่องจึงจบ โดยพระยาสุริยเดชวิเศษทศทิศวิไชย ปลัดบริเวณประจำเมืองหนองคาย ให้ยึดเอาเขตแดนตามที่เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) กับพระยานครราชสีมา ปักเอาไว้เมื่อครั้งแบ่งเขตแดนเมืองทีแรก.
.
ภาพ : แผนที่ยุทธศาสตร์ ครั้งรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ จุดที่วงคือบริเวณพื้นที่เขตเดนระหว่างเมืองหนองหารกับเมืองสกลนคร (ที่มา : Santanee Pasuk, Philip Stott. (2006). ROYAL SIAMESE MAPS. War and Trade in Nineteenth Century Thailand. Bangkok River.)
